Community-Oriented Primary Care (COPC)
COPC ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลักคือ
ขั้นที่ 1 นิยามประชากรที่รับผิดชอบและกำหนดกลุ่มชุมชน
แพทย์ควรรู้ลักษณะและการกระจายทางประชากร (population) ในเขตที่รับผิดชอบ แล้วกำหนดกลุ่มชุมชน (community) ที่แพทย์มองเห็นปัญหา หรือต้องการค้นหาปัญหา ได้แก่
กลุ่มชุมชนที่ติดตามรักษาโรคเรื้อรัง
กลุ่มวัยรุ่น
กลุ่มผู้สูงอายุ
กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น.
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือแพทย์ปฐมภูมิอื่นๆ ไม่ควรรู้จักเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยมารับการรักษาเท่านั้น
ขั้นที่ 2 สำรวจและค้นหาปัญหาสุขภาพของชุมชน
เมื่อได้กำหนดกลุ่มชุมชนแล้ว ต้องศึกษาปัญหาของกลุ่มนั้นๆ โดยรวม ได้แก่
ปัญหาด้านองค์ประกอบย่อยต่างๆ ของประชาชนในกลุ่ม
ปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเชื่อ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
ปัญหาสุขภาพ แล้วจัดลำดับความจำเป็นก่อน-หลัง.
ขั้นที่ 3 การจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา
เมื่อได้รับรู้ปัญหาสุขภาพของกลุ่มชุมชนแล้ว แพทย์ควรวางแผนดำเนินการแก้ไขตามลำดับความสำคัญของปัญหา ความยากง่าย และความเป็นไปได้ของวิธีการแก้ไข
รวมทั้งการหาวิธีป้องกันและวิธีการส่งเสริมสุขภาพ การจัดทำโครงการเหล่านั้นอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจัดระบบบริการของหน่วยบริการ นั้น เช่น เน้นกิจกรรมเชิงรุกในพื้นที่มากขึ้น. ในการจัดทำโครงการ กลุ่มชุมชนเป้าหมายไม่ควรเป็นกลุ่มคนที่มาใช้บริการในระบบเป็นประจำอยู่แล้ว ควรมุ่งที่กลุ่มซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือกลุ่มด้อยโอกาส.
ขั้นที่ 4 การติดตามและประเมินผลโครงการไม่ว่าจะเป็นผลสำเร็จหรือพบแต่ปัญหา อุปสรรคผลเหล่านั้นจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขวิธีดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการแก้ไขปัญหาสุขภาพของกลุ่มชุมชนนั้น. ขั้นตอนสุดท้ายนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการนำผลดำเนินการมาปรับแต่งวิธีดำเนินการให้ตรงกับความต้องการและปัญหาที่แท้จริงของกลุ่มชุมชน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน คำนึงถึงความยั่งยืนของโครงการ หรืออาจนำไปสู่การตัดสินใจล้มเลิกโครงการที่ไม่ก่อประโยชน์ ไม่คุ้มทุน หรือนำไปสู่การริเริ่มโครงการใหม่.